Xylocaine 2% lidocanine hydrochloride ,
Xylocaine 2% ยาชาน้ำ ฉีด
LidoCanine Hydrochloride
Impotter :AstraZeneca
ยาชาฉีด #ยาชาระงับความรู้สึก / ยาชาฉีด
idocaine (ลิโดเคน) เป็นยาชาที่ใช้ระงับความรู้สึกเฉพาะที่ ออกฤทธิ์โดยระงับสัญญาณประสาท ทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบที่ฉีดยาไร้ความรู้สึก นำมาใช้ป้องกันและระงับอาการปวดตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายในระหว่างขั้นตอนการตรวจหรือการรักษาทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัด การใส่สายสวน รวมทั้งใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ บรรเทาอาการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัด รักษาแผลไหม้ แผลถลอก หรือแมลงกัดต่อย และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยา Lidocaine มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Lidocaine
กลุ่มยา |
ยาระงับความรู้สึก |
ประเภทยา |
ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ |
ป้องกันและระงับอาการปวดตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ |
กลุ่มผู้ป่วย |
ผู้ใหญ่และเด็ก |
รูปแบบของยา |
ยาสารละลาย ยาขี้ผึ้ง เจล สเปรย์ ยาหยอดตา ขี้ผึ้งแผ่นแปะ ยาฉีด ยาสวนทวารหนัก |
คำเตือนในการใช้ยา Lidocaine
- ห้ามใช้ยานี้หากมีประวัติแพ้ยา Lidocaine ชนิดยาฉีดหรือยาชาชนิดอื่น ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาทุกชนิดที่กำลังใช้หรือเพิ่งหยุดใช้ไป โดยเฉพาะยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาไดจอกซิน ยานิคาร์ดิปีน และยาโพรพราโนลอล
- ไม่ควรใช้ยานี้หากมีภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติชนิดรุนแรง กลุ่มอาการสโตคส์ อดัมส์ (Stokes-Adams Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจเต้นช้ากะทันหันจนอาจทำให้หมดสติ หรือกลุ่มอาการวูฟพาร์กินสันไวท์ซินโดรม (Wolff-Parkinson-White Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจเต้นเร็วกะทันหันจนอาจทำให้หมดสติหรือรู้สึกเหนื่อยง่าย
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่ทำจากข้าวโพด
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากเป็นโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ การไหลเวียนโลหิตผิดปกติ หรือมีประวัติเคยเป็นไข้สูงอย่างร้าย (Malignant Hyperthermia)
- หลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความตื่นตัวหลังจากได้รับยานี้ เพราะยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ทำให้ความคิดหรือปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายด้อยลง
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้
ปริมาณการใช้ยา Lidocaine
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
การฉีดยาชาเข้าช่องนอกน้ำไขสันหลัง
ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 2-3 มิลลิลิตร โดยให้ยาบริเวณที่ต้องการให้ชา
ปริมาณยาที่แนะนำ
- ระงับปวด ฉีดยาสารละลายความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ เข้าช่องไขสันหลังบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว ปริมาณ 250-300 มิลลิกรัม หรือฉีดยาสารละลายความเข้มข้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 225-300 มิลลิกรัม หรือฉีดยาสารละลายความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 200-300 มิลลิกรัม
- การทำคลอดบุตร ฉีดยาสารละลายความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ เข้าช่องไขสันหลังบริเวณกระดูกสันหลังส่วนทรวงอก ปริมาณ 200-300 มิลลิกรัม หรือฉีดยาสารละลายความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ เข้าช่องระหว่างกระดูกสันหลังส่วนล่าง ปริมาณ 200-300 มิลลิกรัม
- การผ่าตัด ฉีดยาสารละลายความเข้มข้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ เข้าช่องระหว่างกระดูกสันหลังส่วนล่างปริมาณ 225-300 มิลลิกรัม
ไม่ควรฉีดยาซ้ำเกินกว่าทุก 1.5 ชั่วโมง
การรักษาฉุกเฉินสำหรับภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ (Ventricular Arrhythmias)
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อไหล่เดลทอยด์ ปริมาณ 300 มิลลิกรัม หากจำเป็นอาจฉีดยาซ้ำอีกครั้งหลังผ่านไป 60-90 นาที
การฉีดยาชาที่ช่องน้ำไขสันหลัง
ผู้ใหญ่ ยาชนิด Hyperbaric Solution ความเข้มข้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ หรือยา Lidocaine ความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ ในสารละลายกลูโคส 7.5 เปอร์เซ็นต์
- การคลอดปกติทางช่องคลอด ฉีดยาสารละลายความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ เข้าไขสันหลัง ปริมาณ 50 มิลลิกรัม หรือฉีดยาสารละลายความเข้มข้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 9-15 มิลลิกรัม
- การผ่าท้องทำคลอด ฉีดยาสารละลายความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ เข้าไขสันหลัง ปริมาณ 75 มิลลิกรัม
- การผ่าตัดอื่น ๆ ฉีดยาเข้าไขสันหลังปริมาณ 75-100 มิลลิกรัม
ภาวะหัวใจเต้นเร็วชนิดคลำชีพจรไม่ได้ (Pulseless Ventricular Fibrillation) หรือภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดคลำชีพจรได้ (Ventricular Tachycardia)
ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 1-1.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจให้ยาซ้ำเมื่อจำเป็น ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดโดยคงปริมาณยาที่ 50-100 มิลลิกรัม ในอัตรา 25-50 มิลลิกรัม/นาที อาจให้ยาซ้ำ 1 หรือ 2 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 200-300 มิลลิกรัม ใน 1 ชั่วโมง ตามด้วยหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 1-4 มิลลิกรัม/นาที หากให้ยาเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานกว่า 24 ชั่วโมง อาจต้องมีการลดปริมาณยาลง
การหยดยาชาเข้าทางหลอดเลือดดำเฉพาะที่
ผู้ใหญ่ ใช้ยาสารละลายความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่มียาอิพิเนฟริน หยดเข้าทางหลอดเลือดดำ ปริมาณ 50-300 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
การใช้ยาชาเฉพาะที่
น้ำยาบ้วนปากและยาพ่น
ผู้ใหญ่
- ระงับอาการปวด ใช้ยาสารละลายความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 300 มิลลิกรัม กลั้วหรือพ่นในปากและคอ ห้ามใช้บ่อยเกินทุก 3 ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2.4 กรัม/วัน
- ก่อนการส่องกล้องตรวจหลอดลม การถ่ายภาพหลอดลม การส่องกล้องตรวจกล่องเสียง การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร การใส่ท่อช่วยหายใจ การตัดเนื้อเยื่อปากและคอไปตรวจ ใช้ยาสารละลายความเข้มข้น 4 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 40-200 มิลลิกรัม
- สำหรับขั้นตอนทางทันตกรรมและการใช้ทางระบบหูคอจมูก ใช้ยาสารละลายความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 10-50 มิลลิกรัม พ่นบริเวณเยื่อบุผิว
- สำหรับบริเวณกล่องเสียงและหลอดลม ใช้ยาสารละลายความเข้มข้น 4 เปอร์เซ็นต์ โดยพ่นหรือหยดยาปริมาณ 160 มิลลิกรัม ทีละน้อย
ผู้ใหญ่
- ยาขี้ผึ้งความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ ใช้สำหรับทาผิวหนังและเยื่อบุผิว ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 20 กรัม ใน 24 ชั่วโมง
- ยาเจลความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ใช้ทาบริเวณท่อปัสสาวะ ปริมาณประมาณ 120-220 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลาหลายนาทีก่อนการตรวจในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ยาชนิดสารละลาย ใช้ทาบริเวณที่ต้องการ ปริมาณ 40-200 มิลลิกรัม
- ยาชนิดแผ่นแปะ ใช้แปะบริเวณที่มีอาการปวดเป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง ในช่วงทุก 24 ชั่วโมง โดยใช้ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 1 แผ่น/24 ชั่วโมง
- ยาเจลความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงใช้ยาปริมาณ 60-100 มิลลิกรัม สอดเข้าไปในท่อปัสสาวะเป็นระยะเวลาหลายนาทีก่อนการตรวจในระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ชายใช้ยาปริมาณ 100-200 มิลลิกรัม ก่อนการสวนปัสสาวะ และใช้ยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม ก่อนการส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
การใช้ยาชาที่ผิวหนัง
ผู้ใหญ่ ฉีดยาจากสารละลายเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 5-300 มิลลิกรัม
การฉีดยายับยั้งการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติก
ผู้ใหญ่
- ระงับความรู้สึกบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ ฉีดยาสารละลายความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 50 มิลลิกรัม
- ระงับความรู้สึกบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว ฉีดยาสารละลายความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 50-100 มิลลิกรัม
การฉีดยายับยั้งระบบประสาทส่วนปลาย
ผู้ใหญ่
- ยาสารละลายความเข้มข้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับระงับความรู้สึกข่ายประสาทแผงคอ ฉีดยาปริมาณ 225-300 มิลลิกรัม
- ยาสารละลายความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ สำหรับระงับความรู้สึกบริเวณประสาทฟัน ฉีดยาปริมาณ 20-100 มิลลิกรัม
- ยาสารละลายเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับระงับความรู้สึกบริเวณประสาทระหว่างซี่โครง ฉีดยาปริมาณ 30 มิลลิกรัม ส่วนการระงับความรู้สึกที่ตำแหน่งเนื้อเยื่อด้านข้างลำคอ ฉีดยาปริมาณ 100 มิลลิกรัม ให้ยาซ้ำไม่เกินกว่าทุก 90 นาที สำหรับการระงับความรู้สึกที่ข้างกระดูกสันหลัง ฉีดยาปริมาณ 30-50 มิลลิกรัม สำหรับการระงับความรู้สึกบริเวณเส้นประสาทพูเดนดัล ฉีดยาปริมาณ 100 มิลลิกรัม โดยฉีดทีละ 1 ข้าง
- ยาสารละลายความเข้มข้น 4 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการระงับความรู้สึกบริเวณหลังลูกตา ฉีดยาปริมาณ 120-200 มิลลิกรัม
โรคริดสีดวงทวาร อาการปวดและคันรอบทวารหนัก
ผู้ใหญ่ ใช้ยาทาเฉพาะที่หรือยาสวนทวารหนักไม่เกิน 6 ครั้ง/วัน
เด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 12 ปี ใช้ยาทาเฉพาะที่หรือยาสวนทวารหนักไม่เกิน 6 ครั้ง/วัน
ปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัด
ผู้ใหญ่ ใช้ยาชนิดแผ่นแปะความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ แปะบริเวณที่มีอาการปวดมากที่สุด วันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมง ใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 3 แผ่น/1 ครั้ง
การใช้ยา Lidocaine
- การใช้ยา Lidocaine ชนิดยาฉีดหรือยาใช้เฉพาะที่ แพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้ฉีดยาให้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ในระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยา Lidocaine แบบฉีด จะมีการตรวจดูการหายใจ ความดันโลหิต ระดับออกซิเจนในร่างกายและอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติจะได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้แพทย์ทราบว่าต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานเท่าไร
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือเคี้ยวอาหาร ใน 1 ชั่วโมง หลังจากที่ใช้ยานี้กับปากหรือคอ เพราะอาจทำให้มีอาการชาจนเกิดการสำลักเมื่อกลืนอาหารหรือเผลอกัดลิ้นตนเอง
- หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Lidocaine
การใช้ Lidocaine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ง่วงซึม เวียนศีรษะ อาเจียน รู้สึกร้อนหรือหนาว สับสน มีเสียงดังในหู มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน ชาบริเวณที่ถูกยาโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์
หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Lidocaine ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม และคอบวม
- เวียนศีรษะ คล้ายจะหมดสติ
- หัวใจเต้นช้า ชีพจรอ่อน หายใจอ่อนแรง หรือหายใจไม่อิ่ม
- รู้สึกอุ่นพร้อมกับเมื่อยและเจ็บกล้ามเนื้อกะทันหัน
- ปัสสาวะมีสีเข้ม
- ผิวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ
- มีอาการวิตกกังวลอย่างรุนแรง รู้สึกกลัวหรืออยู่ไม่สุขผิดปกติ
- มีอาการกระตุก สั่น หรือชัก
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน